เช็กด่วน ! 6 สัญญาณที่บอกว่าคุณติดสมาร์ทโฟนเข้าขั้นวิกฤต
เช็กด่วน!!! 6 สัญญาณที่บอกว่าคุณติดสมาร์ทโฟนเข้าขั้นวิกฤต
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ทุกวันนี้หันไปทางไหนก็เห็นแต่คนก้มหน้าก้มตาอยู่กับมือถือ นั่งจิ้มหน้าจอสี่เหลี่ยมอย่างขะมักเขม้นจนแทบไม่ได้สนใจผู้คนแวดล้อมรอบข้างบ้างเลย แล้วเชื่อไหมคะว่าบางครั้งก็เป็นสาเหตุให้ต้องประสบอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้น ทั้ง ๆ ที่ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นเลยสักนิด หนำซ้ำถ้ามัวแต่สื่อสารกันผ่านสมาร์ทโฟนสุดไฮเทค ยังจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาอีกมากมายเลยด้วย
ได้รู้อย่างนี้แล้วชักจะผวากันบ้างไหมคะ ถ้าอย่างนั้นลองมาเช็กสัญญาณของอาการติดสมาร์ทโฟนขั้นสาหัสที่ เว็บไซต์ฮัฟฟิงตันโพสต์ เขาได้ไล่เรียงมาให้ดูกันก่อนดีกว่า ใครเข้าข่ายมากน้อยแค่ไหนมาดูกันเลย
1. หยิบโทรศัพท์มาเช็กทันทีที่มีเสียงเตือน
แม้ว่าจะยุ่งแค่ไหนแต่ถ้ามีเสียงติ๊ดเบา ๆ หรือเสียงสัญญาณว่าโทรศัพท์มีการติดต่อเข้ามา คุณก็จะละทิ้งภารกิจติดพันทุกอย่างลงทันที แล้วหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูอย่างปัจจุบันทันด่วน ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการกระวนกระวาย ลุกลี้ลุกลนหมดสมาธิกับอย่างอื่นอย่างฉับพลัน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แสดงว่า คุณเริ่มมีอาการโนโมโฟเบีย (Nomophobia) หรืออาการติดโทรศัพท์เข้าขั้นวิกฤตแล้วล่ะ
แนวทางแก้ไขและป้องกันอาการที่ว่านี้ก็คือ คุณต้องพยายามยั้งคิดให้ได้ว่าข้อความที่เข้ามาทางโทรศัพท์อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร เป็นเรื่องที่รอได้ และคุณก็ต้องให้ความสนใจภารกิจที่กำลังทำอยู่ก่อน อีกทั้งควรจะห่างโทรศัพท์เอาไว้ด้วย เวลานอนควรจะปิดโทรศัพท์มือถือ หรือไม่ก็วางไว้ให้ไกลตัวที่สุด เวลาไปไหนมาไหนก็ควรเก็บโทรศัพท์ไว้ในกระเป๋า ไม่ถืออยู่กับตัวตลอดเวลา เพื่อเบรกตัวเองออกจากความวิตกกังวลที่มีสาเหตุมาจากโทรศัพท์มือถือนะคะ
2. หลอนว่าโทรศัพท์สั่นหรือดังอยู่บ่อย ๆ
อาการหลอนว่าโทรศัพท์สั่นหรือดัง (Phantom Cellphone Syndrome) ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีสัญญาณโทรศัพท์เข้ามาจริง ๆ เป็นอาการที่ค่อนข้างชัดเจนมากว่า คุณกำลังติดเทคโนโลยีไร้สายเข้าขั้นวิกฤตแล้ว แต่จะว่าไปก็เป็นอาการพื้นฐานที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ยืนยันด้วยผลสำรวจของ Indiana University-Purdue University Fort Wayne ที่พบว่า 89% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ มีอาการหลอนว่าโทรศัพท์สั่น หรือดังทั้ง ๆ ที่ไม่มีสายเข้าอยู่บ่อย ๆ
3. มีอาการ FOMO หรืออาการกลัวพลาดข่าวสารสำคัญ
ลองสังเกตตัวเองดูบ้างไหมคะว่าคุณอัพเดทหน้าแรกของโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรมอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า ชนิดที่วางโทรศัพท์ได้ไม่ถึง 5 นาทีก็ยกขึ้นมาเช็กข่าวใหม่ ๆ อีกครั้งแล้ว เรียกได้ว่าอยากจะรู้ทั้งข่าวสาร และเรื่องราวของชาวโซเชียลมีเดียอย่างใกล้ชิด ใครไปทำอะไรที่ไหน เมื่อไร กินอะไร ก็พลาดไม่ได้สักวินาที ถ้าไม่รู้ก็จะหงุดหงิด กระวนกระวาย ใจไม่เป็นสุข ถ้าคุณรู้ตัวว่ามีอาการ FOMO (Fear Of Missing Out) หรืออาการกลัวพลาดข่าวสารในโซเชียลมีเดียแบบนี้ ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซะใหม่ ปล่อยผ่านเรื่องราวของคนอื่นไปบ้าง แล้วหันมาสนใจเรื่องของตัวเอง กับสิ่งที่ตัวเองทำให้มากขึ้นดีกว่า
4. ไม่สนใจคนรอบข้าง
เดี๋ยวนี้เป็นพฤติกรรมที่เห็นกันชินตาเลยก็ว่าได้ ขนาดมาด้วยกัน นั่งใกล้กัน ต่างคนก็ต่างนั่งคุยโทรศัพท์ ไม่ยอมหันหน้ามามองหรือพูดคุยกันเลย ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ คนใกล้ชิดที่เคยสนิทสนมกันก็อาจจะกลายเป็นความห่างเหินเหมือนมีช่องว่างตรงกลางที่เอื้อมไม่ถึง เนื่องจากต่างฝ่ายต่างขาดการสื่อสารซึ่งกันและกัน หรือฝ่ายหนึ่งส่งสารไป แต่อีกฝ่ายไม่รับสารนั้น มัวนั่งก้มหน้าจิ้มโทรศัพท์หน้าตาเฉย ฉะนั้นอย่าปล่อยให้พฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นกับคุณดีกว่า ที่สำคัญอย่าปล่อยให้เทคโนโลยีมาพรากคุณออกจากความอบอุ่นของเพื่อน ครอบครัว และคนใกล้ชิดเลยนะ
5. ขาดโทรศัพท์ขาดใจ
สำหรับคนที่อยู่ห่างโทรศัพท์ไม่ได้เลย เพราะเมื่อไรที่ไม่ได้หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาอัพเดทสเตตัส ถ่ายรูป หรือเช็กอิน ก็เหมือนจะขาดใจตายเสียให้ได้ นั่นก็แสดงว่าคุณเข้าข่ายติดโทรศัพท์อย่างหนัก เรียกได้ว่าถ้าเปรียบเทียบกับอาการป่วยก็ต้องบอกว่าเขาขั้นสาหัสเลยทีเดียว ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่าเป็นแบบนี้ ควรจะออกห่างจากโทรศัพท์บ้าง ทำเป็นเหมือนไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัวได้เลยยิ่งดี เพื่อลดอาการเสพติดโทรศัพท์ ที่อาจจะเป็นสาเหตุให้คุณรู้สึกเครียด และมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมานะคะ
6. ประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานลดลง
ถ้าวัน ๆ ไม่สามารถเงยหน้าขึ้นมาจากโทรศัพท์ หรือแยกแยะและเรียงลำดับความสำคัญของชีวิตในแต่ละวันได้ คงไม่พ้นต้องเสียสมาธิในการเรียนและการทำงานไปไม่น้อย จนอาจจะเป็นสาเหตุให้คุณมีประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานลดลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ ให้ห่างไกลจากอาการติดโทรศัพท์มือถือโดยด่วน ก็อาจจะต้องเสียใจกับผลลัพธ์ที่จะตามมาทั้งในเรื่องของหน้าที่การงาน การเรียน รวมทั้งปัญหาสุขภาพที่คาดไม่ถึงอีกมากเลยนะจ๊ะ
โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่มีความสำคัญกับชีวิตประจำวัน จนจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 อยู่ร่อมร่อก็จริง แต่ถ้าไม่รู้จักใช้อย่างเหมาะสม ก็อาจจะก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ อย่างเช่น อาจจะทำให้เราเครียดและวิตกกังวลมากไปโดยไม่รู้ตัวได้นะคะ ดังนั้นรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็นกันดีกว่าเนอะ...
..... *......*...
แล้วการที่เรา "ก้มหน้าก้มตาจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์มือถือ กดๆ จิ้มๆ เลื่อนๆหน้าจอ เพื่อดูข่าวสารสิ่งเป็นไป คุยกับคนที่อยู่ในโลกออนไลน์โดยเพิกเฉยคนในโลกจริง"
นั่น คือ อาการอะไร...
หาคำตอบได้ใน บทความนี้ คุณเคย "ฟับ..หรือไม่??" Stop Phubbing กันเถอะ
และหากอยากรู้ว่าเราจะมีวิธีในการลด ละ เลิก ฟับบิ้งได้อย่างไร
สามารถอ่านข้อมูลได้ใน วิธีสังเกตตัวเองและแนวทางในการลด ละ เลิก “ฟับบิ้ง”...เรามา Stop Phubbing กันเถอะ!!
เชิญชวน... ลองมาตอบแบบสอบถามนี้ดู คุณจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนา แบบสำรวจการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ค่ะ...
By JaH_K..S
- Login to post comments
- อ่าน 3664 ครั้ง