อั้ยย่ะ !!! วัยรุ่นล่าไลค์ โรคออนไลน์ แชะโชว์ แอ๊บแบ๊ว...
วันนี้อ่านหนังสือพิมพ์แล้วพบประเด็นที่น่าสนใจมาก
เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2013 ที่เรียกว่า Selfie...จึงได้พิมพ์ข่าวดังกล่าวและหามาให้ผู้ชมเว็บของเราติดตามกันค่ะ ไปอ่านเนื้อหาข่าวกันเลยค่าาา ^^
อั้ยย่ะ !!! วัยรุ่นล่าไลค์
โรคออนไลน์ แชะโชว์ แอ๊บแบ๊ว...
เสพติดโซเชียลมีเดียถือเป็นโรค... อันตรายถึงขั้นต้องบำบัดนะจ๊ะ จิตแพทย์เตือน พฤติกรรม "เซลฟี" แชะภาพแอ๊บแบ๊ว แชร์ เฝ้าไลค์ ไล่เช็คคอมเมนท์ เสี่ยงสูง...!!! หากภาพไม่ได้รับไลค์ตามคาดหวัง โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น โตขึ้นอาจกลายเป็นคนขี้อิจฉา โลเล จับผิดคนอื่นเก่ง พัฒนาตนเองยาก ดังนั้น อย่าหมกมุ่น หากิจกรรมอย่างอื่นทำบ้างจ้ะ
อันตรายพฤติกรรมเซลฟี
จิตแพทย์เตือนพฤติกรรม "เซลฟี" โชว์รูปแอ๊บแบ๊วล่าไลค์ หากไม่ได้รับการตอบสนองจากเพื่อนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น โตขึ้นจะเป็นคนโลเล จับผิดคนอื่นเก่ง ขี้อิจฉา มีความผิดปกติทางอารมณ์ได้ง่ายจนต้องบำบัด แนะเพลาหน่อย ให้หากิจกรรมอย่างอื่นทำ
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้คนทั่วโลกนิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งข้อมูลจากสำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สำรวจการใช้สื่อสังคมออนไลน์ปี 2556 พบว่า ทั่วโลก มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊ค 1,000 ล้านกว่าคนต่อเดือน ส่วนในไทย พบประชาชนใช้เฟซบุ๊คถึง 19 ล้านคน ใช้อินสตาแกรมถึง 800,000 คนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นเดือนละ 10 ล้านคน
"เรื่องที่น่าห่วง คือ ประชาชนทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา นิยมถ่ายรูปตัวเองไม่ว่าจะทำอะไร ไปที่ไหน กินอะไร แล้วนำไปเผยแพร่ในสังคมออนไลน์มากขึ้น หรือเรียกว่า พฤติกรรมเซลฟี (Selfie) เพื่อให้เพื่อนในสังคมออนไลนื ทั้งที่รู้จักจริงและรู้จักในสังคมออนไลน์รับรู้และกดไลค์ (Like)"
พฤติกรรมเช่นนี้ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตได้ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจในตนเอง ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และส่งผลต่ออนาคต การงานและการพัฒนาประเทศอย่างคาดไม่ถึง
"เซลฟีจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล การลงรูปเพราะอยากได้การตอบรับจากสังคมและการได้ยอดกดไลก์ถือว่าเป็นรางวัล ซึ่งเป็นหลักปกติของมนุษย์ทั่วไป ถ้าอะไรที่ทำแล้วได้รางวัลก็จะทำซ้ำ แต่ว่ารางวัลของแต่ละบุคคล มีผลกระทบต่อความรู้สึกไม่เท่ากัน บางคนลงรูปไปได้แค่สองไลค์เขาก็มีความสุขแล้ว เพราะถือว่าพอแล้ว แต่บางคนต้องให้มียอดคนกดไลค์มากๆ พอมากก็ยิ่งติด เพราะ ถือว่าเป็นรางวัล แต่หากได้รับการตอบรับน้อยหรือไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ และทำใหม่แล้วยังไม่ได้รับการตอบรับ จะส่งผลต่อความคิดของตัวเอง บุคคลนั้นจะสูญเสียความมั่นใจและส่งผลต่อทัศนคติด้านลบของตัวเองได้ เช่น ไม่ชอบตัวเอง ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง แต่หากบุคคลนั้นสามารถรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างให้เป็นปกติได้ เซลฟีก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต" รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
พญ.พรรณพิมลกล่าวอีกว่า นักจิตวิทยาสหรัฐให้ข้อคิดว่า เซลฟีสามารถกัดกร่อนความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในตัวเองได้
หากถ่ายรูปตัวเองเผยแพร่บนโลกออนไลน์เป็นบางโอกาส ถือเป็นการมีส่วนร่วมในโลกสังคมออนไลน์
แต่หากมากไป และคาดหวังจดจ่อว่าจะมีใครเข้ามาดู เข้ามาแสดงความคิดเห็น แสดงว่า เซลฟีกำลังสร้างปัญหา และเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกถึงการขาดความมั่นใจในตัวเอง ล่าสุด สาธารณสุขประเทศอังกฤษ ได้ออกมาประกาศว่า อาการเสพติดโซเชียลมีเดีย ถือเป็นโรคอย่างหนึ่ง ในแต่ละปีมีชาวอังกฤษเข้ารับการบำบัดมากกว่า 100 ราย
"หากขาดความมั่นใจในตนเองแล้ว จะเกิดความกังวล ลังเล ชีวิตไม่มีความสุข เมื่อมีความคิดสะสมไปเรื่อยๆ อาจมีความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ได้ง่าย เช่น หวาดหลัว หวาดระแวง เครียด อิจฉา ชอบจับผิดคนอื่น ซึมเศร้า อาจทำพฤติกรรมแปลกๆ มีลักษณะตรงข้ามกับความมั่นใจตัวเอง เช่น การแต่งกาย การใช้คำพูด หรือประชดชีวิตตนเอง เช่น ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด เป็นต้น" รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวด้วยว่า หากเยาวชนไทยขาดความมั่นใจจะทำให้ไม่กล้าลงมือทำสิ่งใหม่ในชีวิต มักทำตามคนอื่น เป็นผู้ลอกเลียนแบบหรือทำซ้ำๆในสิ่งที่ทำมาแล้ว พัฒนาตนเองยาก มีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ทำให้จำนวนผู้นำน้อยลง ครอบครัวขาดเสาหลักที่มั่นคง โอกาสการสร้างหรือพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ต่างๆเป็นไปได้ยากขึ้น หากเป็นผู้ทำงานแล้ว โอกาสความก้าวหน้าจะช้ากว่าคนอื่น
วิธีการป้องกันการเสพติดเซลฟี และสร้างความมั่นใจในตัวเองบนโลกความเป็นจริง คือ ต้องให้ความสำคัญกับคนรอบข้างที่เป็นสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน หากิจกรรมยามว่างทำกับคนในครอบครัว เพื่อนๆ เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวพักผ่อน และ ข้อสำคัญ ให้ยอมรับในความแตกต่างของคนที่ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน และที่สำคัญต้องฝึกความอดทนให้กับตัวเอง เพราะการถ่ายเซลฟีไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา ครั้งไหนที่ทำไม่ได้ ต้องยอมฝืนใจที่จะไม่ทำนะจ้ะทุกคน ^^
ที่มา หนังสือพิมพ์รายวัน M2F
ฉบับวันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557
ได้รับความนิยม และผู้คนชอบถ่ายกันมากๆ กระทั่งทำให้ Selfie (เซลฟี) ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมการถ่ายรูปตัวเองแล้วนำไปเผยแพร่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างเช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ฯลฯ ได้รับการคัดเลือกจาก กองบรรณาธิการพจนานุกรมฉบับภาษาอังกฤษของ "ออกซ์ฟอร์ด" ยกให้เป็น "คำศัพท์แห่งปี 2013"
สำหรับในปี 2014 หรือ พ.ศ.2557 นี้
ยาฮู! บริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตสัญชาติอเมริกัน ประเมินว่า
ในสังคมออนไลน์ จะมีเซลฟี ถูกโพสต์ราว 880 พันล้านรูป!!!
แสดงให้เห็นถึงความนิยมของ เซลฟี ที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ...
อย่างไรก็ตาม ขณะที่เซลฟี ทำให้เจ้าของรูปมีความสุข รู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้น ยิ่งเมื่อได้เห็นยอดคน "กดไลค์" จำนวนมาก
แต่ เอลเลน เคนเนอร์ นักจิตวิทยาในรัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา ฝากข้อคิดว่า เซลฟี สามารถกัดกร่อน Self-Esteem (เซลฟ์-เอสตีม) หรือความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในตัวเองได้เช่นกัน หากเราไม่รู้จักระวัง โดยฝากข้อคิดไว้ว่า ก่อนที่เราจะกดโทรศัพท์ถ่ายรูปตัวเอง เพื่อโพสต์ลองถามตัวเองดูสิว่า เราถ่ายรูปนี้เพื่ออะไร?
"ถ้าคุณเกิดรู้สึกชอบหน้าตาของคุณวันนี้จัง หรือกำลังอยู่ในอารมณ์มีความสุข และอยากจะเก็บภาพตัวเองในช่วงเวลานี้ไว้เป็นความทรงจำ หรือต้องการแบ่งปันช่วงเวลานี้ให้เพื่อนๆ และคนในครอบครัวดู นั่นเป็นสิ่งที่น่าทำ"
แต่ถ้าหากคุณโพสต์เซลฟี แล้วตั้งหน้าตั้งตารอคอย ปฏิกิริยาตอบรับจากผู้คน หรือคอยกดรีเฟรชดูเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรมทุก 20 นาที หรือคาดหวังให้ใครเข้ามา คอมเมนต์ แสดงความคิดเห็นต่อ เซลฟี ของคุณนั่นล่ะเป็น "ปัญหา" เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่บอกได้ว่า คุณกำลังพึ่งพาปฏิกิริยาและปัจจัยภายนอกมากเกินไป มากกว่าที่ให้ความสำคัญกับความสุขภายในตัวคุณเอง
เอลเลน ยังฝากแง่คิดด้วยว่า...
"ทุกเซลฟีในโลกนี้ ไม่มีทางจะทดแทนความมั่นใจในตัวเองที่แท้จริงไปได้"
ขณะที่ไจมี คูลาก้า นักจิตวิทยาในเมืองแทมปา รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "การถ่ายเซลฟี เป็นบางโอกาส เป็นครั้งคราว ถือเป็นการมีส่วนร่วมอย่างหนึ่งในสังคมออนไลน์ แต่ถ้ามากไปอาจเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของการขาดความมั่นใจตัวเอง"
ไจมี ยังมีคำแนะนำถึงการค่อยๆ "ถอนตัว" จากเซลฟีว่า ให้คิดถึงการใช้ชีวิตในโลกแห่งความจริง ก่อนการถ่ายรูป ไม่ใช่เอะอะก็จ้องแต่จะยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูป (ตัวเอง) ก่อน แล้วเมื่อโพสต์เซลฟีลงในเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม ก็ไม่ต้องนั่งคอยจ้องดู notifications ว่ามีใครมากดไลค์ มาคอมเมนต์บ้างหรือยัง?
หรือไม่ก็ลองเริ่มจำกัดการโพสต์เซลฟีของตัวเอง ให้เฉพาะกลุ่มคนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทดู ไม่ได้โพสต์กระจายให้ใครๆ เห็นกันทั่ว
ไจมียังว่า "ยิ่งคุณออกห่างจากอินสตาแกรม เฟซบุ๊กมากเท่าไร คุณจะมีเวลาอยู่ในโลกความจริงมากขึ้น ซึ่งเป็นหนทางใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกที่ดีจากข้างในของเรา ไม่ใช่มีชีวิตที่ดูดีแต่เปลือกนอก"
นอกจากนี้ FlashFly ยังเผยผลสำรวจ...
ชาวโซเชียลนิยมถ่ายภาพ Selfie เดือนละ 35 ล้านภาพ
และแชร์ลง Facebook มากสุด
ผลสำรวจจาก Opinium บริษัทออนไลน์ รีเสริช จากลอนดอนพบว่า 51 % ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยถ่ายเซลฟี่ (Selfie) ซึ่งเมื่อนำตัวเลขมาคำนวณแล้วในแต่ละเดือนมีผู้ถ่ายภาพเซลฟี่มากถึง 35 ล้านภาพ ภาพเซลฟี่ที่เราๆถ่ายกันนั้น ราว 48 % นิยมแชร์ลง Facebook, 13 % ถ่ายส่งให้คนรู้จักชมภาพผ่าน Whatsapp, 9% ถ่ายลง Twitter และ 8 % ถ่ายลง Instagram
ที่มา Opinium
FlashFly สนับสนุนข้อมูลและภาพประกอบ
.....++
เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับ พฤติกรรมเซลฟี (Selfie) มีใครเป็นบ้างมั๊ยเอ่ย หากเริ่มพบว่าตนเองมีพฤติกรรมเซลฟีแล้ว อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ คุุณยังสามารถควบคุมพฤติกรรมเหล่านี้ได้ การได้ตระหนักจะนำไปสู่การยอมรับ แก้ไขและเปลี่ยนแปลงตัวเองในท้ายที่สุด หากใครต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถติดต่อผ่านทางเว็บไซต์ได้เลยนะคะ ยินดีให้คำแนะนำค่ะ...
.....++
ท้ายนี้...
ขอเชิญชวนเยาวชนและผู้สนใจทั่วไป อายุตั้งแต่18 ปีขึ้นไป
ร่วมทำแบบสำรวจการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)
ทำแบบทดสอบได้เลยค่ะ >> คลิ๊ก
นอกจากนี้ยังมีบทความพิเศษที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์มาฝากกันด้วยค่ะ...
คุณเคย 'ฟับ หรือไม่??...Stop Phubbing กันเถอะ
วิธีสังเกตตัวเองและแนวทางในการลด ละ เลิก “ฟับบิ้ง”
...เรามา Stop Phubbing กันเถอะ!!
เมื่อคนรอบตัว "ฟับบิ้ง" เราจะทำอย่างไรดี ? ... เรามา Stop Phubbing กันเถอะ!!
By JaH_K..S
- Login to post comments
- อ่าน 2477 ครั้ง