โพลชี้ ประชาชนนิยม‘สื่อโซเชียล’ รู้ข้อมูลข่าวสารเร็ว แต่ต้องใช้อย่างมีสติ!!
ดุสิตโพล สำรวจความเห็นประชาชน ‘สื่อโซเชียล กับสังคมไทย’ ส่วนใหญ่มองว่าเป็นที่นิยมของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ทำให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วทันเหตุการณ์ เข้าถึงง่าย แต่ขณะเดียวกัน ข้อมูลอาจขาดการกลั่นกรอง และเป็นช่องทางพวกมิจฉาชีพ ชี้ควรมีสติก่อนโพสต์
เมื่อ 31 ก.ค.59 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่สนใจและใช้สื่อโซเชียล จำนวน 1,196 คน ระหว่างวันที่ 25-30 ก.ค.ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “สื่อโซเชียล กับสังคมไทย” เนื่องจากปัจจุบันการใช้สื่อโซเชียลในสังคมไทยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่วัยรุ่น การเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ มีความสะดวกและรวดเร็ว แต่หากขาดการคัดกรองและไม่มีการควบคุม อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา และส่งผลกระทบต่อสังคมได้
จากการสำรวจในประเด็นที่ 1 ประชาชนคิดอย่างไร? กับการใช้สื่อโซเชียล ณ วันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 82.78 เห็นว่า สื่อโซเชียลเป็นที่นิยมในทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน รองลงมาอันดับ 2 ร้อยละ 73.49 ชี้ว่าสื่อโซเชียล ทำให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ และอันดับ 3 ร้อยละ 71.91 เห็นว่า มีทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ใช้
ส่วนประเด็นที่ 2 ข้อดี-ข้อเสีย ของการใช้สื่อโซเชียลนั้น ร้อยละ 78.43 เห็นว่ามีข้อดีคือ รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว รองลงมา 76.17% ชี้ข้อดีคือเข้าถึงได้ง่าย สะดวก ส่วนข้อเสีย ร้อยละ 75.08 มองว่า ข้อมูลอาจไม่เป็นจริง ขาดการคัดกรอง และ 66.30% ชี้ว่าเป็นช่องทางของมิจฉาชีพ ควบคุมยาก
ขณะที่จากการสอบถามในประเด็นที่ 3 ระหว่างข้อดี-ข้อเสีย ของการใช้สื่อโซเชียล ประชาชนคิดว่าอะไรมากกว่ากัน? อันดับ 1 ร้อยละ 51.67 เห็นว่า ข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะสื่อสารได้รวดเร็ว เข้าถึงคนจำนวนมาก ทันต่อเหตุการณ์ อันดับ 2 ร้อยละ 27.09 มองว่ามีทั้งข้อดีข้อเสียพอๆ กัน ขึ้นกับผู้ใช้งาน
และประเด็นที่ 4 บทเรียนที่ประชาชนได้รับจากกรณีข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้สื่อโซเชียล เช่น การแอบถ่าย โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ และละเมิดสิทธิผู้อื่น พบว่าอันดับ 1 ร้อยละ 77.59 เห็นว่าต้องมีสติ คิดก่อนจะโพสต์แสดงความคิดเห็น คำนึงถึงผลที่จะตามมา และรองลงมาอันดับ 2 ร้อยละ 73.83 ชี้ว่าต้องรอบคอบ ใช้วิจารณญาณและระมัดระวังให้มากขึ้น
ที่มา:
- Login to post comments
- อ่าน 1147 ครั้ง